ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค  พ.ศ. 2532
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค  พ.ศ. 2532

size="2">พระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค
พ.ศ. ๒๕๓๒
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
เป็นปีที่ ๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีชั้นอุทธรณ์เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. ๒๕๓๒”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้จัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาคขึ้น ส่วนจำนวนและที่ตั้งจะอยู่ ณ ที่ใดมีเขตศาลเพียงไร และจะเปิดทำการเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๔ ให้ศาลอุทธรณ์ภาคเป็นศาลอุทธรณ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค เป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
 
มาตรา ๕ คดีใดที่ได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาคแล้ว เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องว่าคดีนั้นไม่สมควรได้รับการพิจารณาต่อไปในศาลอุทธรณ์ภาค ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งโอนคดีนั้นไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาได้ คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
 
มาตรา ๖ ถ้ามีคดีหลายเรื่องซึ่งเกี่ยวเนื่องกันค้างพิจารณาอยู่ในชั้นอุทธรณ์ในศาลเดียวกันหรือต่างศาลกัน และคู่ความทั้งหมดหรือแต่บางฝ่ายเป็นคู่ความรายเดียวกัน กับทั้งการพิจารณาคดีเหล่านั้นถ้าได้รวมกันแล้วจะเป็นการสะดวก หากศาลนั้นหรือศาลใดศาลหนึ่งเหล่านั้นเห็นสมควรให้พิจารณาคดีรวมกัน หรือหากคู่ความทั้งหมดหรือแต่บางฝ่ายมีคำขอให้พิจารณาคดีรวมกันโดยทำเป็นคำร้องไม่ว่าในเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้พิจารณาคดีเหล่านั้นรวมกัน
ถ้าจะโอนคดีไปเพื่อรวมพิจารณากับคดีเรื่องอื่นในอีกศาลหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งก่อนที่จะได้รับความยินยอมของศาลที่จะรับโอนคดีนั้นไม่ได้ แต่ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอมก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
 
มาตรา ๗ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์ภาคประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนผู้พิพากษาแห่งศาลนั้น และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคหรือผู้ทำการแทนตามกฎหมายเป็นประธาน
 
มาตรา ๘ บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้นำมาใช้บังคับแก่ศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณีโดยอนุโลม เว้นแต่เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าใช้ได้เฉพาะกับศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้น หรือเป็นบทบัญญัติในเรื่องอำนาจหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๖ มาตรา ๘ และมาตรา ๒๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
 
มาตรา ๙ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาคเปิดทำการแล้ว ให้อุทธรณ์คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคต่อศาลอุทธรณ์ภาคที่มีเขตอำนาจ
คดีที่ได้อุทธรณ์ก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ภาค ให้ศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี ซึ่งคดีนั้นค้างพิจารณาอยู่คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป
 
มาตรา ๑๐ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์ภาคเปิดทำการอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์จะสั่งให้โอนคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ ไปให้ศาลอุทธรณ์ภาคนั้นพิจารณาพิพากษาต่อไปก็ได้
 
มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่ปัจจุบันมีคดีขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีเพียงศาลเดียวโดยมีเขตศาลครอบคลุมทั่วราชอาณาจักรและตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จึงทำให้ไม่สามารถพิจารณาพิพากษาคดีที่คั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมากได้ สมควรจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาคขึ้นเพื่อกระจายศาลออกเป็นหลายศาลตามภูมิภาคต่างๆ อันจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีชั้นอุทธรณ์เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้