ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : รวมข้อสอบเนติบัณฑิต เรื่องหุ้นส่วน-บริษัท
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

รวมข้อสอบเนติบัณฑิต เรื่องหุ้นส่วน-บริษัท

ข้อ ๒๗ บริษัทเอกชัยจำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ในรอบระยะเวลาบัญชี 2544 บริษัทฯ ได้ซื้อสินค้าจากโรงงานราคา 1,000,000 บาท ถูกโรงงานเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไปร้อยละ 7 เป็นเงิน 70,000 บาท และได้จ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้าไปเป็นเงิน 50,000 บาท กับได้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายอันเนื่องมาจากสินค้าที่ขายให้แก่ผู้ซื้อมีคุณภาพต่ำผิดข้อตกลงตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับผู้ซื้อ เป็นเงินค่าเสียหาย 100,000 บาท

ให้วินิจฉัยว่า บริษัทเอกชัยจำกัด จะนำภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่านายหน้า และค่าชดเชยความเสียหายที่ได้จ่ายไปดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชี 2544 ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทเอกชัย จำกัด จ่ายให้แก่ผู้ขายสินค้าไปจำนวน 70,000 บาท เป็นภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจะต้องนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำรวณภาษี เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคหนึ่ง บริษัทเอกชัยจำกัด จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อดังกล่าว มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เพราะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี ( 6 ทวิ )

ส่วนค่านายหน้าในการขายสินค้า จำนวน 50,000 บาท และค่าชดเชยความเสียหายจำนวน 100,000 บาท เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทเอกชัยจำกัดโดยเฉพาะ เมื่อเป็นรายจ่ายของบริษัทฯที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 และมิใช้รายจ่ายชนิดที่ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี ( 1 ) – ( 20 ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ได้ ( คำพิพากษาฎีกาที่ 2510/2530 )

ข้อ ๒๘ ห้างหุ้นส่วนจำกัดธงชัย มีนายธงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายกล้าและนายเก่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด โดยนายกล้าลงหุ้นเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท ต่อมานายกล้าสุขภาพไม่ดีจึงโอนหุ้นของตนให้แก่นายหาญจำนวน 500,000 บาท นายกล้าและนายหาญมีหนังสือแจ้ง


การโอนหุ้นให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดธงชัยและนายธง ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมชื่อนายหาญเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดลงหุ้นด้วยเงิน 500,000 บาท ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายหาญประกอบกิจการค้าประเภทเดียวกันกับการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดธงชัย และนายเก่งไม่ได้ตกลงยินยอมในการโอนหุ้นดังกล่าวด้วย

ให้วินิจฉัยว่า นายธงต้องดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามที่นายกล้าและนายหาญขอหรือไม่

ธงคำตอบ
นายกล้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดย่อมมีสิทธิโอนหุ้นของตนให้แก่นายหาญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1091 ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดมีสิทธิและอำนาจหน้าที่ในขอบเขตจำกัด ประกอบกับผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดสามารถประกอบการค้าขายที่มีสภาพอย่างเดียวกันกับการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามมาตรา 1090 คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงไม่เป็นสาระสำคัญและไม่เป็นการเฉพาะตัว ทั้งการโอนหุ้นก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมของห้างหุ้นส่วนจำกัดตามมาตรา 1032 ไม่ นายกล้าจึงมีสิทธิโอนหุ้นให้นายหาญได้ เมื่อการโอนหุ้นไม่ขัดต่อกฎหมาย นายธงหุ้นส่วนผู้จัดการจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนให้ดังที่นายกล้าและนายหาญร้องขอ ( คำพิพากษาฎีกาที่ 5562/2538 )

ข้อ ๒๙ นายหนึ่ง นายสอง นายสามและนายสี่ ได้ร่วมทุนกันจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย โดยนายหนึ่งและนายสองลงหุ้นคนละ 100,000 บาท ไม่จำกัดความรับผิด ส่วนนายสามและนายสี่ลงหุ้นคนละ 200,000 บาท จำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีนายหนึ่งและนายสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีรายการจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ โดยได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วว่า "นายหนึ่งและนายสองลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะมีผลผูกพันห้างหุ้นส่วน" ต่อมา ในวันที่ 21 กันยายน 2546 นายหนึ่งและนายสองต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงได้มอบอำนาจให้นายสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เข้าจัดกิจการงานในห้างแทนตนเป็นเวลา 10 วันในวันที่ 25 กันยายน 2546 นายสามในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายหนึ่งและนายสองได้ทำสัญญาแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อซื้อขายสินค้าจากนายเอ จำนวน 1,000,000 บาท และในวันที่ 26 กันยายน 2546 นายสี่ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้ทำสัญญาแทนห้างหุ้นส่วนเพื่อซื้อสินค้าจากนายบี จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อนายหนึ่งและนายสองกลับมาจากต่างประเทศก็ได้รับเอาสัญญาที่นายสามทำไว้แทนห้างหุ้นส่วน แต่ไม่ยอมรับเอาสัญญาที่นายสี่ทำไว้ เช่นนี้หากนายเอและนายบี ได้เรียกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้วินิจฉัยว่า นายเอ และนายบีจะเรียกให้บุคคลใดรับผิดได้บ้าง

ธงคำตอบ
การที่นายสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเขัาจัดกิจการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือว่าเป็นการสอดเข้าไป
เกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 แม้ว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานดังกล่าวจะทำ โดยได้รับมอบอำนาจก็ตาม นายสามจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯโดยไม่จำกัดจำนวน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 691/2524)
เมื่อนายสามได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องให้เข้าทำสัญญา สัญญาซึ่งนายสามทำไว้กับนายเอจึงมีผลผูกพันห้างฯ เมื่อห้างฯผิดนัด นายเอจึงเรียกให้ห้างฯในฐานะคู่สัญญา รวมทั้งนายหนึ่งและนายสองในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และนายสามในฐานะหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ที่ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ร่วมกันรับผิดได้ตามมาตรา 1070 ประกอบกับมาตรา 1080
นายสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีอำนาจจัดการงานให้ผูกพันห้างฯ อีกทั้งนายบีก็ทราบถึงรายการเกี่ยวกับอำนาจจัดการซึ่งได้จดทะเบียนไว้ ณ กระทรวงพาณิชย์ เพราะรายการดังกล่าวได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าทุกคนทราบถึงข้อความดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1022 ดังนั้นสัญญาซึ่งนายสี่ได้กระทำขึ้นจึงไม่มีผลผูกพันห้างฯ นายบีไม่สามารถเรียกให้ห้างฯรับผิด แต่เรียกให้นายสี่รับผิดเป็นส่วนตัวได้

ข้อ ๓๐ บริษัทสยาม จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2547 มีทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายหนึ่งและนายสองเป็นกรรมการ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2547 บริษัทฯ ขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ จึงขอยืมเงินจากนายหนึ่งจำนวน 1,000,000 บาท อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม 2547 กิจการของบริษัทฯ ได้ดีขึ้น ผู้ถือหุ้นประสงค์จะตอบแทนความช่วยเหลือของนายหนึ่ง ผู้ถือหุ้นจึงได้ประชุมกันลงมติพิเศษให้บริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนทั้งสิ้น 10,000 หุ้น โดยให้เสนอขายให้นายหนึ่งคนเดียวในราคาหุ้นละ 90 บาท โดยให้ถือว่า เงินที่กู้ยืมส่วนหนึ่งจำนวน 900,000 บาท ที่บริษัทฯ ยืมไปจากนายหนึ่งเป็นเงินชำระค่าหุ้นและให้คืนเงินที่กู้ยืมที่เหลืออีก 100,000 บาท ให้นายหนึ่ง ให้วินิจฉัยว่า มติพิเศษของผู้ถือหุ้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
การที่ผู้ถือหุ้นบริษัทสยาม จำกัด ลงมติพิเศษให้เพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นให้นายหนึ่งคนเดียวนั้นกระทำไม่ได้ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1222 ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้นต้องเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามส่วนจำนวนหุ้นซึ่งเขาถืออยู่ ส่วนที่ลงมติเสนอขายในราคาหุ้นละ 90 บาท ต่อหุ้นก็กระทำไม่ได้ เพราะต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ จึงขัดต่อมาตรา 1105 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ออกขายหุ้นในราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ และที่ลงมติให้นายหนึ่งชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน โดยทำการหักกลบลบหนี้กับเงินที่บริษัทสยาม จำกัด ยืมมาจากนายหนึ่งก็กระทำไม่ได้เช่นกัน เพราะขัดต่อมาตรา 1119 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในการใช้เงินค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่ ดังนั้น มติพิเศษของผู้ถือหุ้นทั้งสามประการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ ๓๑ นายมุ่ง นายมิ่งและนายมั่น ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้น โดยให้นายมุ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่เพียงผู้เดียวและนายมิ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อนจดทะเบียนห้าง นายมุ่งได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะเพื่อนำมาใช้ในกิจการของห้าง จากบริษัทเจริญยนต์ จำกัด 1 คัน โดยได้รับมอบรถยนต์มาใช้แล้วแต่ยังไม่ได้ชำระราคา ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวและดำเนินกิจการจนมีผลกำไรอันจักต้องแบ่งให้แก่หุ้นส่วนทุกคนตามสัญญา นายมิ่งได้รับส่วนแบ่งกำไรส่วนของตนตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนมาแล้ว แต่ไม่ยอมแบ่งให้แก่หุ้นส่วนคนอื่น นายมุ่งและนายมั่นต่างได้ทวงถามแล้ว แต่นายมิ่งก็ไม่แบ่งให้ ทั้งไม่ยอมชำระราคารถยนต์ให้แก่บริษัทเจริญยนต์ จำกัดอีกด้วย นายมั่นไม่พอใจนายมิ่งมากและประสงค์จะถอนหุ้นโดยเรียกเงินที่ลงเป็นค่าหุ้นคืนจากนายมิ่ง แต่นายมิ่งก็ไม่ยอมคืนให้ ให้วินิจฉัยว่า

(ก) บริษัทเจริญยนต์ จำกัด จะฟ้องนายมุ่งและนายมิ่งให้ร่วมกันชำระราคารถยนต์ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดได้หรือไม่

(ข) นายมั่นจะฟ้องนายมิ่งขอให้แบ่งส่วนกำไรให้ตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและขอให้คืนเงินค่าหุ้นที่ได้ลงไปให้แก่ตนด้วยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก) บริษัทเจริญยนต์ จำกัด มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องนายมุ่งและนายมิ่งให้ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งนี้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1079 ห้างหุ้นส่วนจำกัดถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใดให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน นายมุ่งได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะกับบริษัทเจริญยนต์ จำกัด ก่อนที่ห้างจะได้จดทะเบียน ดังนั้นต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระราคารถยนต์กระบะให้แก่บริษัทเจริญยนต์ จำกัด แม้นายมุ่งจะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ตาม ก็ไม่อาจอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดได้ตามนัยแห่งบทกฎหมายข้างต้น ทั้งนายมุ่งยังมีความรับผิดในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทเจริญยนต์จำกัด อีกด้วย ส่วนนายมิ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนก็ต้องรับผิดเช่นกัน เพราะรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซื้อเพื่อนำมาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วน จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในการชำระราคาให้แก่ผู้ขาย (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2519, 992/2521)

(ข) นายมั่นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องนายมิ่งขอให้แบ่งส่วนกำไรให้ตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนได้ทั้งนี้ เพราะเป็นการฟ้องอ้างว่าหุ้นส่วนด้วยกันปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่ยอมแบ่งกำไรให้ตามสัญญา แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกกันก็ไม่ขัดขวางการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะฟ้องหุ้นส่วนคนอื่นว่าปฏิบัติผิดสัญญา ทั้งไม่มีกฎหมายบทใดบังคับว่า เมื่อยังมิได้เลิกหุ้นส่วนกันแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนฝ่ายหนึ่งจะฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งหาว่าผิดสัญญาไม่ได้(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2497) ส่วนการที่นายมั่นฟ้องนายมิ่งขอให้คืนเงินค่าหุ้นที่ตนได้ลงไปนั้นนายมั่นไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องได้ ทั้งนี้เพราะถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิก ผู้เป็นหุ้นส่วนจะฟ้องขอคืนเงินค่าหุ้นโดยไม่ได้ฟ้องขอเลิกห้าง และขอให้ชำระบัญชีด้วยไม่ได้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น เมื่อเลิกห้างจะต้องมีการชำระบัญชีตามมาตรา 1061 เมื่อนายมั่นไม่ได้ฟ้องขอเลิกห้างและขอให้ชำระบัญชีก่อน แต่มาฟ้องขอคืนเงินค่าหุ้น นายมั่นจึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2514, 1767/2529)

ข้อ 32. นายตุนเป็นเจ้าของตึกแถว 3 ชั้นหนึ่งห้อง ต้องการลงทุนเปิดเป็นร้านขายของแต่ไม่มีเงินจึงไปชวนเพื่อนชื่อนายตันและ
นายต่วนเข้าหุ้น ทั้งสองคนตกลงเอาเงินสดคนละ 100,000 บาท มาลงทุนร่วมกับนายตุน โดยทั้งสามคนตกลงจะไปจดทะเบียน
เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดภายหลัง ให้นายตุนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ระหว่างที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ให้ทำการค้าร่วมกันไปก่อน นายตุน
เห็นว่าร้านที่ตั้งขึ้นนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์ในตึกแถวชั้นที่ 3 จึงทำสัญญาเช่าให้นางสาวดรุณีผู้เช่าใช้เป็นห้องพักอาศัย ต่อมาปีเศษ
ร้านค้าขายขาดทุน ทั้งนายต่วนถูกรถยนต์ชนถึงแก่ความตาย นายตันเตือนให้นายตุนรีบไปจดทะเบียนร้านตามข้อตกลง และเรียก
ค่าเช่าที่นางสาวดรุณีค้างชำระอยู่จำนวน 38,000 บาท เพื่อมาใช้เป็นทุนในร้าน แต่นายตุนเพิกเฉย นายตันจึงฟ้องนางสาวดรุณี
เรียกค่าเช่าตามสัญญาเช่าจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย และแจ้งนายตุนขอเลิกกิจการร้านนี้
ให้วินิจฉัยว่า (ก) นายตันจะฟ้องนางสาวดรุณีได้หรือไม่
(ข) นายตันมีสิทธิขอเลิกกิจการร้านนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ
(ก) กรณีตามปัญหา กิจการที่นายตุน นายตันและนายต่วนร่วมกันเปิดเป็นร้านขายของนั้นเป็นสัญญาจัดตั้ง
ห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 แม้จะตกลงกันให้จัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่ถ้ายังมิได้
จดทะเบียนอยู่ตราบใด ให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญอยู่ ตามมาตรา 1079 ซึ่งจักต้องใช้บทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญ
มาใช้บังคับ
คดีที่นายตันฟ้องนางสาวดรุณีเรียกค่าเช่าตามสัญญาเช่า แม้นายตันเป็นหุ้นส่วนและมีส่วนเป็นเจ้าของในตึกแถว
ชั้นที่ 3 ที่ให้เช่าด้วยก็ตาม แต่นายตันมิใช่คู่สัญญากับนางสาวดรุณีในสัญญาเช่าตึกดังกล่าว ดังนั้น นายตันย่อมไม่อาจถือสิทธิ
ตามสัญญาเช่าเรียกค่าเช่าจากนางสาวดรุณีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ตามมาตรา 1049 นายตันจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่า
พร้อมดอกเบี้ยจากนางสาวดรุณี (คำพิพากษาฎีกาที่ 2578/2535)

(ข) เมื่อนายต่วนหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกัน
ตามมาตรา 1055 (5) เว้นแต่หุ้นส่วนอื่นที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้นั้น ตามมาตรา 1060 เมื่อไม่ปรากฏเหตุดังกล่าว
นายตันจึงมีสิทธิขอเลิกกิจการได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3196/2532)

ข้อ 33. ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศรี ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ค้าไก่ย่าง มีนายสมชายและนายสมศักดิ์ลงหุ้นคนละ 100,000 บาท ไม่จำกัดความรับผิด นายภมรลงหุ้น 100,000 บาท จำกัดความรับผิด นายสมชายและนายสมศักดิ์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในการตั้งชื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน 3 คน ซึ่งเป็นพี่น้องกันได้นำชื่อนางสมศรีมารดามาใช้เป็นชื่อห้างเพื่อเป็นสิริมงคล โดยได้รับความยินยอมจากนางสมศรีแล้ว อย่างไรก็ตาม นางสมศรีไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศรีแต่อย่างใด ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศรีผิดนัดชำระหนี้ราคาสินค้าต่อบริษัทไก่ดี จำกัด จำนวน 500,000 บาท บริษัทไก่ดี จำกัด ได้เรียกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมศรี นายสมชายและนายสมศักดิ์ชำระราคาสินค้าแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวไม่ชำระ
ให้วินิจฉัยว่า บริษัทไก่ดี จำกัด จะเรียกให้นางสมศรีรับผิดในหนี้ราคาสินค้าดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ
นางสมศรีไม่ต้องรับผิดในหนี้ราคาสินค้าต่อบริษัทไก่ดี จำกัด เนื่องจากนางสมศรีไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทไก่ดี จำกัด อีกทั้งนางสมศรีก็ไม่ใช่หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดแล้วได้ยินยอมให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้าง ซึ่งจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 และมาตรา 1082 นอกจากนั้น แม้ว่านางสมศรีจะได้ยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเป็นชื่อ ห้างก็ตาม แต่ตามมาตรา 1054 เรื่องบุคคลใดยอมให้ใช้ชื่อของตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน บุคคลดังกล่าวย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วนนั้นไม่นำมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548)

ข้อ 34. บริษัทสยาม จำกัด ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งทุน เป็น 100,000 หุ้น มูลค่าจดทะเบียนหุ้นละ 10 บาท นายเอกถือหุ้น 45,000 หุ้น นายถือถือหุ้น 45,000 หุ้น และนายตรีถือหุ้น 10,000 หุ้น บริษัทมีนายหนึ่ง นายสอง และนายสามเป็นกรรมการ ต่อมาคณะกรรมการทั้งสามคนได้ขายที่ดินของบริษัทให้แก่นายสี่ ซึ่งราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าว ต่ำกว่าราคาตลาดมากโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรทางธุรกิจที่จะทำเช่นนั้น นายเอกได้มีหนังสือถึงบริษัทสยามจำกัด เพื่อให้ฟ้องคณะกรรมการทั้งสามคนให้ชดใช้ค่าเสียหายในการขายที่ดินดังกล่าว ต่อบริษัท แต่บริษัทสยามจำกัด ได้มีหนังสือถึงนายเอกยืนยันว่าจะไม่ฟ้องนายหนึ่ง นายสอง นายสาม เพราะทั้งสามคนเป็นกรรมการจึงมีอำนาจขายที่ดินดังกล่าวได้ แม้ว่าราคาจะต่ำกว่าราคาตลาดมากโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม
ให้วินิจฉัยว่า
(ก) นายเอกจะฟ้องนายหนึ่ง นายสอง และนายสาม ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทฐานทำผิดหน้าที่กรรมการได้หรือไม่
(ข) นายเอกจะฟ้องนายสี่ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะได้หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก) ในการจัดกิจการของบริษัทนั้น กรรมการมีหน้าที่จะต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบ ด้วยความระมัดระวังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 การที่กรรมการขายที่ดินต่ำกว่าราคาตลาดมากโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท กรรมการจึงต้องรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายต่อบริษัทฐานไม่ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขาย ผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังตามมาตรา 1168 (3 คะแนน) เมื่อบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง นายเอกจึงมีสิทธิฟ้องนายหนึ่ง นายสอง และนายสามฐานทำผิดหน้าที่กรรมการได้ตามมาตรา 1169 (3 คะแนน)
(ข) ในประเด็นเรื่องฟ้องร้องนายสี่ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะนั้น เมื่อบริษัทจดทะเบียนแล้ว ถือว่าเป็นบุคคลมีสิทธิหน้าที่ต่างหากจากผู้ถือหุ้น กรรมการเท่านั้นมีอำนาจในการทำหน้าที่แทนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 นายเอกเป็นเพียงผู้ถือหุ้นไม่ใช่กรรมการ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนายสี่เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะได้(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1426/2542) (4 คะแนน)
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
kkanta ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ใช้ระดับ I
รายละเอียดผู้ใช้ 
-ขอบคุณครับ
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้