ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : ประวัติความเป็นมาของ กรมการขนส่งทางอากาศ
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

ประวัติความเป็นมาของ กรมการขนส่งทางอากาศ

ประวัติความเป็นมา


   ในความคิดของมนุษย์เกี่ยวกับการบินปรากฏมาเป็นระยะเวลานานมาก ดังเช่นสมัยพุทธกาล สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสแก่พระอานนท์ขณะทรงเห็นหงส์ฝูงหนึ่งบินไปในอากาศว่า “อากาเส ยนฺติ อิทธิยา” แปลความว่า “ผู้มีฤทธิ์ย่อมไปได้ในอากาศ” พระดำรัสของพระพุทธองค์มีมากว่า 2,500 ปี แต่ที่ยอมรับว่ามนุษย์สามารถบินได้จริงก็ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2446 เมื่อสองพี่น้องตระกูลไรท์ (Wright) คือ “วิลเบอร์” (Wilbur) และ “ออร์วิล” (Orville) ชาวอเมริกัน ได้ทำการบินด้วยเครื่องยนต์เป็นผลสำเร็จครั้งแรก ณ เมืองคิตตี้ฮอค (Kitty Hawk) มลรัฐแคโรไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นการบินของมนุษย์โดยแท้จริง
        สำหรับประเทศไทย การบินเริ่มเข้ามามีบทบาทในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อนายชาร์ล ฟันเดน บอร์น (Charles Van Den Born) นักบินลูกครึ่งเบลเยี่ยม-ฝรั่งเศส นำเครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง 4 (Henry Farman IV) ชื่อแวนด้า (Wanda) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องบินแบบฟลายเออร์ของพี่น้องตระกูลไรท์ บรรทุกลงเรือจากไซ่ง่อนมาแสดงการบินที่สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร) ให้ชาวไทยได้ชมในระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1911) โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงการบินโดยมิได้มีหมายกำหนดการมาก่อน
        การแสดงบินครั้งนั้นทำให้ชาวสยามรู้สึกตื่นเต้นสนใจเป็นอันมากและปรารถนาให้มีเครื่องบิน ในสยามประเทศบ้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซื้อเครื่องบินลำดังกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา กระทรวงกลาโหมจึงมีดำริที่จะจัดตั้ง “แผนกการบิน” ขึ้นในกองทัพบก ด้วยตระหนักถึง ความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีเครื่องบินไว้ป้องกันภัยของชาติ วาระนั้นพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ทรงสนับสนุนให้มีการคัดเลือกนายทหารบก 3 นาย ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ประกอบด้วย พันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ผู้บังคับกองพันพิเศษกองพลที่ 5 ร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร(หลง สินศุข) ผู้รั้งผู้บังคับกองพันพิเศษกองพลที่ 9 และร้อยโททิพย์ เกตุทัต ผู้บังคับกองร้อยที่ 3 โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทรงเห็นว่า มีความเจริญก้าวหน้าในด้านการบินยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป ในขณะนั้น
        ระหว่างที่นายทหารทั้งสามกำลังศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ (Brequèt) ชนิดปีก 2 ชั้น จำนวน 3 ลำ เครื่องบินแบบนิเออปอร์ท ชนิดปีกชั้นเดียว 4 ลำ และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้บริจาคเงินซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้แก่กระทรวงกลาโหมอีก 1 ลำ เครื่องบินทั้ง 8 ลำนี้นายทหารทั้ง 3 นาย ได้เป็นผู้ทดลองบิน ณ ประเทศฝรั่งเศสแล้วจึงส่งมายังประเทศไทย จึงนับได้ว่าทั้งสามนายเป็นนักบินชุดแรกของไทย
        เมื่อนายทหารทั้ง 3 นาย สำเร็จการศึกษาวิชาการบินและเดินทางกลับถึงประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2456 กระทรวงกลาโหมจึงได้เริ่มงานกิจการบินอย่างจริงจัง โดยตั้ง “แผนกการบิน” ให้ขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงอัครโยธิน จเรการช่างทหารบก มีการสร้างโรงเก็บเครื่องบินหลังโรงเรียนพลตำรวจ ปทุมวัน และใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร) เป็นสนามบิน สนามบินสระปทุมจึงเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย
        วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ได้มีการทดลองบินด้วยเครื่องบินครั้งแรก ณ สนามบินสระปทุม ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยอย่างมาก เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเก็บเครื่องบินและได้ทอดพระเนตรการบิน ซึ่งนักบินทั้ง 3 นาย บินถวายพร้อมโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล มีเจ้านาย ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนตลอดจนประชาชน ชาวไทยไปคอยทอดพระเนตรและชมอยู่บริเวณรอบๆ สนามบินแห่งนี้เป็นจำนวนมาก
        หลังจากแผนกการบินได้จัดตั้งขึ้นเป็นเวลาประมาณ 1 ปี พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) เสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้มีดำริให้ย้ายแผนกการบินจากตำบลปทุมวัน เนื่องจากสถานที่เดิมเป็นที่ลุ่ม พื้นที่คับแคบ ไม่สะดวกในการขยายสนามบิน นายพันโท พระเฉลิมอากาศ (หลวงศักดิ์ ศัลยาวุธ) จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการหาสถานที่และได้พบที่นาดอนทางตอนเหนือของอำเภอบางเขน ห่างจากพระนครประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม สามารถใช้ประโยชน์ในการบินได้ตลอดปี อีกทั้งยังมีรถไฟสายเหนือวิ่งผ่าน และเหมาะจะพัฒนาเป็นสนามบินขนาดใหญ่ต่อไปได้ในอนาคต พื้นที่บริเวณนั้นชาวบ้านเรียกว่า “ดอนอีเหยี่ยว” เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินจับกลุ่มมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ หลังจัดตั้งกองบินแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ดอนเมือง”


ถูกใจเพจเพื่อรับข่าวสาร

        ต้น พ.ศ. 2457 กระทรวงกลาโหมสั่งการให้กรมเกียกกายทหารบกดำเนินการปรับพื้นที่ให้เป็น สนามหญ้าที่เครื่องบินสามารถวิ่งและบินขึ้นลงได้ พร้อมก่อสร้างโรงเก็บเครื่องบิน อาคารสถานที่ และบ้านพักอาศัย เมื่อการก่อสร้างสำเร็จบางส่วนแล้ว จึงได้มอบสถานที่ดังกล่าวให้กองบินทหารบกเข้าใช้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของแผนกการบิน
        ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ย้ายแผนกการบินไปตั้งอยู่ที่ตำบลดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457 จากนั้นจึงเริ่มขนสัมภาระเข้าสู่ที่ตั้งแห่งใหม่ และในวันที่ 8 มีนาคม 2457 นายทหารนักบินทั้ง 3 นาย ได้ขับเครื่องบินจากสนามบิน สระปทุมไปลง ณ สนามบินดอนเมือง รวม 3 ลำเป็นปฐมฤกษ์ หลังจากการเคลื่อนย้ายเสร็จเรียบร้อย แผนกการบินจึงได้เริ่มปฏิบัติภารกิจที่ดอนเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
        วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 พระยาเฉลิมอากาศได้นำเครื่องบินเบรเกต์ ชนิดปีก 2 ชั้น ซึ่งโรงงานกองบินทหารบกเป็นผู้สร้างขึ้นในประเทศไทยโดยฝีมือคนไทยล้วนๆ ขึ้นทดลองบินเป็นครั้งแรก
        ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2461 ไทยได้ส่งทหารอาสาไปร่วมการรบจำนวน 300 นาย ทำให้ทหารไทยได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการขับเครื่องบินตลอดจนการสร้างเครื่องบินจากทหารฝรั่งเศส เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งนั้น ปรากฏว่าไทยมีนักบินมากกว่า 100 นาย และได้มีการบริจาคทรัพย์เป็นจำนวนมากให้กระทรวงกลาโหมซื้อเครื่องบินใช้ในราชการจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และได้ตั้งชื่อเครื่องบินที่จัดซื้อตามชื่อจังหวัดที่มีผู้บริจาค
        วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2462 ผู้แทนรัฐบาลสยามพร้อมผู้แทนรัฐบาลนานาประเทศ ได้ลงชื่อสัญญานานาประเทศว่าด้วยการเดินอากาศ (Convention Concerning the Regulation of Aerial Navigation, October 13, 1919) และได้พระราชทานสัตยาบันเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 จึงได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการตั้งเจ้าหน้าที่ดูแลการเดินอากาศ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 โดยกำหนด “เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งจะอำนวยการเรื่องเดินอากาศนี้ให้เป็นไปตามตกลงนั้น ให้ปรากฏแน่ชัด จึงมี พระบรมราชโองการดำรัสสั่งว่า ให้กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีกรมอากาศยานทหารบกร่วมอยู่ด้วยนั้น เป็นเจ้าหน้าที่อำนวยการในกิจซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเดินอากาศทั้งปวงโดยตลอดตั้งแต่บัดนี้สืบไป” (คัดลอกมาจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36 หน้า 240, 241 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2462) หลังจากมีประกาศฯ แล้วในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 มีการทดลองบินนำถุงไปรษณีย์จากดอนเมืองไปจันทบุรี ด้วยเครื่องบินแบบเบรเกต์ (Brequèt xiv) การทดลองทำการบินได้ผลเป็นที่พอใจ จึงมีการเปิดการบินรับส่งถุงไปรษณีย์ระหว่างนครราชสีมาและอุบลราชธานีด้วย
        หลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่ากำลังทางอากาศมิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารอย่างเดียว แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่นๆ เช่น การพาณิชย์ การคมนาคม การเรียกชื่อกรมอากาศยานทหารบกจึงไม่เป็นการเหมาะสมและไม่ตรงตามความมุ่งหมายที่ได้จัดตั้งขึ้น จึงมีคำสั่งกระทรวงกลาโหมลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2464 ให้เปลี่ยนชื่อจาก “กรมอากาศยานทหารบก” เป็น “กรมอากาศยาน” ดังนั้นกรมอากาศยานจึงได้เปิดสายการบินไปรษณีย์ขึ้น เพื่อช่วยเหลือกรมไปรษณีย์โทรเลขในการรับส่งหนังสือในท้องที่ที่การคมนาคมยังไม่สะดวก เช่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้นยังได้ใช้เครื่องบินลำเลียงเครื่องเวชภัณฑ์ และแพทย์พยาบาลไปทำการรักษาโรคระบาดในพื้นที่ทุรกันดาร และมีการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศอีกด้วย
        ต่อมา พ.ศ. 2469 ได้มีเอกชนขออนุญาตจัดตั้งบริษัทการบินพาณิชย์ขึ้น ชื่อบริษัทการบินเมล์พาณิชย์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ขนส่ง จำกัด เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2473 รัฐบาลจึงได้มอบภารกิจบางส่วนเกี่ยวกับการเดินอากาศจากกระทรวงกลาโหมให้กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมดำเนินงานแทน
        เมื่อกิจการขนส่งทางอากาศมีประสิทธิภาพและมีบทบาททางกิจการค้าขายมากขึ้น กอปรกับพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ยังมิได้กำหนดลงไว้ว่ากระทรวง ทบวง การใดเป็นเจ้าหน้าที่รักษาการ จึงมีการกำหนดใน (4) ให้กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการอันเกี่ยวกับ รถไฟ ขุดคลอง เดิรอากาศ โรงไฟฟ้าและประกันภัย ซึ่งประกาศมา ณ วันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2472 และในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดิรอากาศแก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2475 ประกาศมา ณ วันที่ 29 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ตามมาตรา 9 ให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นเสนาบดีผู้มีอำนาจและผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
        ใน พ.ศ. 2476 ได้มีการปรับปรุงระเบียบราชการบริหารขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรมขึ้นไว้ ได้มีกระทรวงต่างๆ รวม 7 กระทรวง โดยกิจการคมนาคมและการสื่อสารอยู่ในกระทรวงเศรษฐการ และตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงเศรษฐการ ประกาศ ณ วันที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2476 ตาม มาตรา 15 กรมการขนส่งแบ่งส่วนราชการดังนี้
        1.    สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งเป็น 2 แผนก คือ (1) แผนกสารบรรณ    (2) แผนกเบ็ดเตล็ด
        2.    กองการบินพลเรือน แบ่งเป็น 2 แผนก คือ (1) แผนกควบคุม    (2) แผนกก่อสร้าง
        พระราชกฤษฎีกานี้ ระบุไว้ชัดเจนระหว่างการบินของทหารและของพลเรือน หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม อีกหลายครั้ง ภาพโครงสร้างของการขนส่งทางอากาศด้านพลเรือนเริ่มเด่นชัดมากยิ่งขึ้น โดยมีพระราชบัญญัติโอนอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงหรือกรมซึ่งได้มีการปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2484 ตราไว้ ณ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ตามมาตรา 5 ได้กล่าวถึง “บรรดาอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมเจ้าท่า กรมไปรษณีย์โทรเลข กรมรถไฟและราชการอันเกี่ยวกับกองบินพาณิชย์ ฯลฯ ให้โอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าหน้าที่” และใน พ.ศ. 2485 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในกรมการขนส่ง โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 กอง ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองขนส่งทางบก กองขนส่งทางน้ำ และกองขนส่ง ทางอากาศ ซึ่งระบุให้ทำหน้าที่ควบคุม การขนส่งทางอากาศทั้งในและนอกประเทศ
        ภายหลังได้มีการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการและการจัดวางระเบียบราชการของกรมการขนส่งขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง แต่ก็ยังประกอบด้วยหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศเช่นเดิม จนกระทั่งใน พ.ศ. 2497 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมการขนส่งในกระทรวงคมนาคมใหม่เพื่อให้มีสำนักงานการบินพลเรือน ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากองและมีการแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 3 กอง คือ กองเทคนิค กองควบคุมการจราจรทางอากาศ และกองบริการขนส่งทางอากาศ แต่การพัฒนาด้านการขนส่งไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าที่ควรเนื่องจากตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งที่ประกาศใช้ในขณะนั้นหลายฉบับมีความแตกต่างกันในเรื่องการให้อำนาจบริหาร
        ใน พ.ศ. 2506 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานงานครั้งสำคัญของกรมการขนส่ง กล่าวคือ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 ขึ้นในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้ยกฐานะสำนักงานการบินพลเรือนขึ้นเป็นกรมการบินพาณิชย์ ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาด้านการบินพลเรือน รวมทั้งการพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ เพื่อใช้ในกิจการบินพลเรือนเกือบ 30 แห่ง ซึ่งใน ยุคเริ่มแรก ท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาคเป็นการใช้ในกิจการทหารร่วมกันกับพลเรือน แต่แบ่งแยก การดำเนินการออกจากกันเป็นสัดส่วน
        กิจการบินพลเรือนมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อให้การดำเนินการบริหารงานมีความคล่องตัวประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กรมการบินพาณิชย์จึงได้โอนงานในความรับผิดชอบให้หน่วยงานต่างๆ บริหารในรูปของรัฐวิสาหกิจดังนี้
        24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 มอบให้ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนา ท่าอากาศยานดอนเมือง
        1 มีนาคม พ.ศ. 2531 โอนงานบริหารท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
        26 สิงหาคม พ.ศ. 2531 โอนงานบริหารท่าอากาศยานหาดใหญ่ให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
        8 ตุลาคม พ.ศ. 2531 โอนงานบริหารท่าอากาศยานภูเก็ตให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
        1 มีนาคม พ.ศ. 2531 โอนงานบริการโทรคมนาคม การบริการวิทยุเครื่องช่วยการเดินอากาศ และ การบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
        15 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 โอนงานบริการโทรคมนาคม การบริการวิทยุเครื่องช่วยการเดินอากาศ และการบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
        16 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 โอนงานบริการโทรคมนาคม การบริการวิทยุเครื่องช่วยการเดินอากาศ และการบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ที่ท่าอากาศยานภูเก็ตให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
        5 มีนาคม พ.ศ. 2535 ได้ออกพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนการดำเนินงานของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนภายใต้การกำกับดูแลของกรมการบินพาณิชย์ เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมในนาม “สถาบันการบินพลเรือน” (CIVIL AVIATION TRAINING CENTER)
        1 มิถุนายน พ.ศ. 2545 โอนงานบินทดสอบให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
        3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เปลี่ยนชื่อจาก “กรมการบินพาณิชย์” เป็น “กรมการขนส่งทางอากาศ” ตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
        24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อ “กรมการขนส่งทางอากาศ” เป็น “กรมการบินพลเรือน” เพื่อให้เหมาะสม สอดคล้องกับภารกิจด้านการบินซึ่งครอบคลุมทั้งการขนส่งทางอากาศและการเดินอากาศ เป็นการสอดคล้องกับแนวทางในการกำหนดชื่อหน่วยงานลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ

ถูกใจเพจเพื่อรับข่าวสาร


รูปภาพ: กรมการขนส่งทางอากาศ.jpg
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้